Sirimon Treepongkaruna, Ph.D. , Tanakorn Likitapiwat, Ph.D. , Worapree Maneesoonthorn, Ph.D.
รายงานฉบับนี้ศึกษาประเด็นโครงสร้างจุลภาคของตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกฎระเบียบด้านความโปร่งใสของการซื้อขายหลังการทำธุรกรรมซื้อขาย โดยมุ่งเน้นที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบสองฉบับที่นำเสนอโดยสมาคมตลาดสารหนี้ไทย (“ThaiBMA”) ในปี พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2552 โดยศึกษาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพคล่อง ความผันผวนแบบก้าวกระโดด และความน่าจะเป็นของการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลที่มีนัยสำคัญในตลาดตราสารหนี้ไทย เช่น พันธบัตรรัฐบาลไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ กฎระเบียบฉบับแรกที่ถูกบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2549 ThaiBMA ได้นำบทบัญญัติข้อ 2 ของประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับที่ ส.ย. ที่ 37/2548 มากำหนดให้สมาชิก จัดส่งข้อมูลการซื้อขายให้ ThaiBMA ภายใน 30 นาทีหลังจากการซื้อขายเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ กฎระเบียบฉบับที่สองบังคับใช้ ในปี พ.ศ. 2552 ThaiBMA ออกบทลงโทษสำหรับธุรกรรมล่าช้า รายการผิดพลาด หรือธุรกรรมขาดหายไป เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและประสิทธิภาพของตลาดตราสารหนี้ไทย ทั้งนี้ โครงการฯ ได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลดิบจาก ThaiBMA โดยการวิจัยอาศัยชุดข้อมูลที่ครอบคลุมธุรกรรมพันธบัตรทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2562 โดยวิเคราะห์เฉพาะการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยด้านอื่นที่อาจจะกระทบการวิเคราะห์
จากการวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ศึกษาทั้งสิ้น 745,911 รายการ โดยการศึกษามุ่งเน้นไปที่ระยะเวลาในการรายงานการซื้อขาย ความผันผวนของสภาพคล่อง และการกระโดดของตลาดในแง่ของการรายงานธุรกรรม ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การรายงานและบทลงโทษดังกล่าว ตลาดตราสารหนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และธุรกรรมส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์การรายงานที่มาตรฐาน ดังนั้น กฎระเบียบที่ออกมามีความเหมาะสม การกำหนดเวลารายงาน 30 นาทียังคงเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในตลาดตราสารหนี้ไทย ทั้งนี้ การกำกับดูแลกฎระเบียบในการรักษาเสถียรภาพและประสิทธิภาพของตลาดมีความเหมาะสม และยังอาจไม่มีความจำเป็นจะต้องปรับเวลาการรายงานให้ช้าลงหรือเร็วขึ้น