Home > Publication & Database

CMRI Publication

เอกสารเผยแพร่

โครงการศึกษาผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายว่าด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

Adam Reekie, Ph.D. , Narun Popattanachai, Ph.D.

10 Mar 2025
SHARE

Abstract

โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการทบทวนและประเมินข้อเท็จจริงสำหรับการบังคับใช้ของพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 และนำเสนอข้อเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อเสนอแนะแนวปฏิบัติทางอุตสาหกรรมที่นำไปสู่ตลาด Securitization ที่ประสบความสำเร็จ คณะผู้วิจัยดำเนินการวิจัยด้วยการประเมินโครงสร้างกฎหมายและการกำกับดูแลในประเทศไทยโดยพิจารณากลไกหรือขั้นตอนทางกฎหมายที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามเพื่อดำเนินโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ โดยแบ่งออกเป็นกลไกทางกฎหมายที่มีผลกระทบสูง กลาง และระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างกฎหมายและการกำกับดูแลในประเทศกรณีศึกษาอีกสองประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป (และสหราชอาณาจักร) และสหรัฐอเมริกา

งานวิจัยได้ผลสรุปว่า ประเทศไทยมีกลไกหรือขั้นตอนที่สร้างต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมาย (compliance costs) สูง ได้แก่ กลไกการขออนุญาต และบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้สนับสนุนโครงการและ SPV เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีกลไกหรือขั้นตอนที่สร้างต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมายระดับปานกลาง เช่น บทบัญญัติที่กำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดของสถาบันการเงินในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์  ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยังมีกลไกหรือขั้นตอนที่สร้างต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมายที่เมื่อพิจารณาแล้วอาจสร้างต้นทุนในระดับต่ำ แต่เมื่อเปรียบเทียบกลไกหรือขั้นตอนเดียวกันของกฎหมายหลักทรัพย์ในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกากลับพบว่าเป็นกลไกหรือขั้นตอนที่ควรพิจารณาออกแบบการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เช่น การกำกับดูแลผู้ให้บริการวิเคราะห์และจัดลำดับทางการเงิน เป็นต้น 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (policy recommendations) เบื้องต้น สรุปได้ดังนี้

  1. พิจารณาผ่อนปรนมาตรการอนุมัติอนุญาตในกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เฉพาะในส่วนที่ไม่ส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบหรือส่วนที่มีกลไกการบริหารความเสี่ยงอื่นรองรับอยู่แล้ว เช่น พิจารณานำมาตรการกำหนดประเภทของผู้ดำเนินโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นจากกระบวนการขออนุญาต โดยอาจจะพิจารณาจากผู้ดำเนินโครงการประเภทหน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงินขนาดใหญ่ก่อน
  2. ปรับปรุงแนวปฏิบัติด้านการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์โดยใช้แนวทางการสร้างแบบมาตรฐาน (standardized template) หรือใช้การเก็บข้อมูลแบบที่มีโครงสร้างข้อมูล (structured data) ซึ่งสามารถส่งและรับระหว่างกันได้ผ่านการสร้าง application program interface (API) 
  3. เพิ่มมาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อลดความเสี่ยงและปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลผู้ให้บริการจัดลำดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน เพื่อให้โครงสร้างทางกฎหมายในเรื่องนี้ของประเทศไทยสอดคล้องกับแนวทางกำกับดูแลของตลาดทุนสำคัญของโลก 
  4. เพิ่มมาตรการทางภาษีเพื่อลดต้นทุนของการระดมทุนด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์เพิ่มเติม เช่น พิจารณานำมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการยกเว้นรายได้จากดอกเบี้ยปันผลที่เกิดจากสินทรัพย์ภายใต้โครงการ เป็นต้น