Home > Publication & Database

CMRI Publication

เอกสารเผยแพร่

Exploring Thai listed companies' corporate sustainability reporting and the stakeholder involvement in corporate materiality analysis

Charika Channuntapipat, Ph.D.

16 Aug 2023
SHARE

Abstract

“โครงการสำรวจการจัดทำรายงานความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย” มุ่งที่จะศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการจัดทำรายงานความยั่งยืน และมุ่งที่จะส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเห็นความสำคัญของการผนวกแนวคิดเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลเป็นหนึ่งในเครื่องมือ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักในเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดประเด็นความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญของบริษัทจดทะเบียนด้วย คำถามวิจัยหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ ได้แก่

1) รายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2564 มีลักษณะอย่างไร?

2) การจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือการเข้าร่วมดัชนีเพื่อความยั่งยืนต่าง ๆ มีผลต่อการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์องค์กรด้านความยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร?

3) บริษัทจดทะเบียนมีการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการพัฒนากลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างไร?

ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักด้วยกันคือ ส่วนแรกเป็นข้อมูลจากรายงานความยั่งยืน รายงานประจำปี และการเปิดเผยข้อมูลอื่น ๆ ของบริษัทจดทะเบียนใน SET100 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2564 และส่วนที่สองเป็นข้อมูลจากกรณีศึกษาบริษัทจดทะเบียนใน SET100 จำนวน 10 แห่ง

ข้อมูลจากรายงานของบริษัทพบว่าการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนใน SET100 มีรูปแบบและพัฒนาการที่แตกต่างกัน โดยบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน และอุตสาหกรรมทรัพยากร มีภาพรวมการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นและละเอียดขึ้น รวมถึงมีการใช้มาตรฐาน/กรอบการรายงานสากลเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงที่เก็บข้อมูล ทั้งนี้ในแต่ละหมวดธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเองก็มีรูปแบบและพัฒนาการการเปิดเผยข้อมูลที่แตกต่างกัน อัตราการใช้ผู้สอบทานอิสระในการให้ความเชื่อมั่นต่อข้อมูลความยั่งยืนที่เปิดเผยจากบริษัทในกลุ่มตัวอย่างยังไม่สูงนัก โดยรายงานของผู้สอบทานส่วนมากเป็นการให้ความเชื่อมั่นแบบจำกัด (Limited Assurance) ซึ่งเป็นการให้ความเชื่อมั่นในระดับที่ต่ำกว่าการให้ความเชื่อมั่นแก่งบการเงิน

การเชื่อมโยงประเด็นด้านความยั่งยืนขององค์กร (หรือ ESG) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562-2564) มีแนวโน้มดีกว่าช่วงก่อนหน้า (พ.ศ. 2558-2561) แสดงให้เห็นถึงการผนวกประเด็นดังกล่าวเข้าไปกับการดำเนินงานและบริหารความเสี่ยงมากกว่าการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนในแง่การบริจาคเงิน หรือการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อาจไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรโดยตรง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของบริษัทในกลุ่มเป้าหมายมีการอ้างถึงกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มากขึ้น ถึงแม้บางส่วนจะเป็นการกล่าวถึงแบบไม่เชื่อมกับเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ข้อมูลที่เก็บมาได้ก็แสดงแนวโน้มการให้ความสำคัญกับแต่ละเป้าหมายจาก SDGs ของบริษัทที่แตกต่างกันออกไป ในปี พ.ศ. 2564 เป้าหมายที่บริษัทกล่าวถึงมาก 3 อันดับแรก คือ เป้าหมายที่ 8 เป้าหมายที่ 13 และเป้าหมายที่ 12 นอกจากนี้ บริษัทที่เชื่อมเป้าหมายจาก SDGs เข้ากับตัวชี้วัดในการดำเนินธุรกิจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาที่เก็บข้อมูลด้วย

บริษัทจากกลุ่มตัวอย่างมีการจัดทำ Materiality Matrix เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นผลมาจากการสนับสนุนการใช้เครื่องมือ Materiality Assessment Application ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผย Materiality Matrix ของบางบริษัทยังขาดการเชื่อมโยงประเด็นความยั่งยืนที่มีในนัยสำคัญเข้ากับตัวชี้วัดที่ชัดเจน

อัตราส่วนของบริษัทในกลุ่มเป้าหมายที่มีการประกาศความมุ่งมั่น พร้อมตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ยังมีไม่มากนัก โดยบริษัทที่เริ่มตั้งเป้าหมายจะมีการประกาศในการเปิดเผยข้อมูลช่วงปี พ.ศ. 2562-2564 โดยตั้งเป้าหมายปีที่จะบรรลุ Carbon Neutrality อยู่ในช่วงปีพ.ศ. 2573-2593 และตั้งเป้าหมายปีที่จะบรรลุ Net Zero อยู่ในช่วงปีพ.ศ. 2573-2608 ส่วนการกำหนดปีฐานสำหรับการบรรลุเป้าหมายนั้นแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบริษัท อย่างไรก็ตาม การกำหนดปีที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และการเลือกใช้ปีฐานยังไม่ค่อยมีความชัดเจนนัก นอกจากนี้บางบริษัทมีการเปิดเผยว่าบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในแต่ละปีที่เปิดเผยข้อมูลผ่านการได้ใบรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าความหมายของการบรรลุเป้า Carbon Neutrality และ Net Zero ของแต่ละบริษัทอาจมีการตีความที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มความชัดเจนให้ผู้ใช้ข้อมูล และให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละบริษัทได้

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานความยั่งยืนของบริษัทข้างต้น และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างกัน คณะผู้วิจัยได้ทำการสุ่มเลือก 10 บริษัท ได้แก่ MINT STGT SCB AEONTS IVL AP BCP HMPRO VGI และ ADVANC โดยเลือกจากบริษัทในกลุ่มธุรกิจที่ต่างกัน และมีลักษณะการเปิดเผยข้อมูลที่ต่างกัน หากมองในภาพรวมแล้วบริษัทที่ดำเนินการอยู่ในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร และกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนค่อนข้างมาก และมีความก้าวหน้าในแนวคิดและระบบเก็บข้อมูล การตั้งเป้าหมาย รวมถึงการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแรงกดดันจากการถูกจับตามองจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกจากนี้บริษัทที่มีการดำเนินงานที่เกี่ยวพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ต่างประเทศ ก็มีความตื่นตัวในเรื่องการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนองค์กรเช่นกัน

ขณะเดียวกันบางบริษัทแม้ไม่ได้อยู่กลุ่มอุตสาหกรรมข้างต้น แต่มีความก้าวหน้าในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และการดำเนินงานด้านความยั่งยืน อาจเป็นผลมาจากวัฒนธรรมองค์กรที่ในอดีตประเด็นด้านความยั่งยืนถูกผลักดันมาจากฝ่าย IR และมีการยกระดับแนวคิดด้าน CSR ของบริษัทให้เป็นแนวคิดด้านความยั่งยืนที่ผนวกเข้าไปในกลยุทธ์และกระบวนการของบริษัท ที่ส่งผลต่อการดำเนินงาน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการของบริษัทให้ตอบโจทย์ด้ายความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม บางบริษัทยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแรงกดดันจากกฎระเบียบ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่มากนักในประเด็นด้านความยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มสำคัญ เช่น กลุ่มลูกค้า ยังไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนเท่าที่ควรในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ การดำเนินงานด้านความยั่งยืนรวมถึงการเก็บและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ก็อาจไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแรงกดดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่า

ข้อมูลจากกรณีศึกษาชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างองค์กร และรูปแบบของหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความยั่งยืนมีความสำคัญ และส่งผลต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทั้งในการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน การผนวกประเด็นด้านความยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์องค์กร และการกระตุ้นให้หน่วยงานปฏิบัติการเข้าใจถึงเป้าหมาย และดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน กรอบการเปิดเผยข้อมูล และการเข้าร่วมประเมินดัชนีต่าง ๆ มีส่วนช่วยทำให้บริษัทได้ใช้แนวทางจากกรอบนั้น ๆ ในการเก็บข้อมูลด้านความยั่งยืน และประเมินช่องว่างของข้อมูลที่ต้องเก็บเพื่อมาใช้ในการตัดสินใจ การวางกลยุทธ์ และการวางแผนการดำเนินงานมากขึ้น ในส่วนของการกำหนดประเด็นด้านความยั่งยืนที่มีนัยสำคัญนั้น บริษัทที่เพิ่งเริ่มจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืน หรือบริษัทที่กำลังยกระดับการทำ CSR มาเป็นการดำเนินงานด้านความยั่งยืนองค์กรอาจยังไม่มีการกำหนดประเด็นที่มีนัยสำคัญ แต่เกือบทุกบริษัทมีกระบวนการการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มอยู่แล้ว ส่วนการใช้ผู้สอบทานอิสระเพื่อให้ความมั่นใจแก่ข้อมูลความยั่งยืนที่บริษัทเปิดเผยยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหลายบริษัทที่ยังไม่ได้ใช้ผู้สอบทานก็กำลังศึกษาแนวทางและพิจารณาการใช้ผู้สอบทานด้วย

ประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาเพิ่มเติมในการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน และส่งเสริมการเชื่อมโยงของประเด็นที่มีนัยสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล มีดังนี้ ในส่วนของการออกกฎระเบียบ หรือแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล อาจพิจารณาแนะแนวทางหรือข้อกำหนดถึงระยะเวลาการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หากบริษัทเปิดเผยแบบแยกเล่มจาก 56-1 One Report แนะแนวทางการนำมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่บริษัทในประเทศไทยควรปฏิบัติตาม จะเป็นประโยชน์ในการเลือกใช้มาตรฐานที่เหมาะสม ให้ความสำคัญกับการกำหนดประเด็นที่มีนัยสำคัญด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนใน 56-1 One Report พร้อมให้แนวทางด้านความถี่ในการจัดทำ Materiality analysis นอกจากนี้ควรให้แนวทางในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality หรือ Net Zero เพื่อให้การเปิดเผยมีความสอดคล้องกัน และมีข้อมูลประกอบเป้าหมายที่เปิดเผยอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ในกำหนดการใช้ผู้สอบทานอิสระเพื่อให้ความมั่นใจต่อข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนองค์กรอาจกำหนดขอบเขตเป็นประเด็นรายตัวชี้วัดที่สำคัญก่อน และต้องสำรวจความพร้อมของบริษัท ในด้านข้อมูลความยั่งยืนที่เปิดเผยก่อนที่จะมีการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว

ในส่วนของการให้การสนับสนุน หรือการช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียน หน่วยงานกำกับดูแล หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาแนวทางการอุดหนุนค่าบริการที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน และจัดทำรายชื่อ/ข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการของบริษัทที่ปรึกษาแก่บริษัทจดทะเบียน เช่นเดียวกับการพิจารณาสนับสนุนในลักษณะที่คล้ายกันของการใช้ผู้สอบทานอิสระ นอกจากนี้ในการเสริมศักยภาพ หน่วยงานกำกับดูแล ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจพิจารณาช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กในแง่ของการอบรมในประเด็นข้อกำหนดด้านการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบใหม่ ๆ และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และประเด็นด้านความยั่งยืนองค์กร และให้ความรู้แก่ภาคเอกชนเพื่อรับรู้ถึงทิศทางการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงระเบียบที่จะเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งช่วยวางแนวทางการปรับตัว และการสื่อสารกับบริษัทขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การสร้าง Ecosystem ก็สำคัญเช่นกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งเพิ่มศักยภาพ และสร้างที่ปรึกษา รวมถึงผู้สอบทานข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนที่เป็นบริษัทสัญชาติไทยเพิ่มขึ้น เพื่อให้บริษัทที่ต้องการรับบริการมีทางเลือกมากขึ้นทั้งในแง่ความเชี่ยวชาญ และราคาของบริการดังกล่าว ในส่วนของ ESG Data Platform ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังพัฒนาอยู่เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการรวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนแก่หน่วยงาน และบุคคลที่สนใจ ทั้งนี้การพัฒนาในอนาตคอาจปรับปรุงในเรื่องความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น รวมถึงพิจารณาความสอดคล้องของข้อกำหนดใน 56-1 One Report ให้สอดคล้องกับข้อมูลที่บริษัทต้องกรอกใน ESG Data Platform ในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคสำหรับประเด็นด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อน และความต้องการต่อสินค้า ผลิตภัณฑ์ และโครงการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สุดท้ายการพัฒนาStakeholder platform รวม อาจเป็นประโยชน์ต่อการรวมรวบข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นช่องทางในวงกว้างในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความคิดเห็นต่อบริษัทด้วย