Home > Publication & Database

CMRI Publication

เอกสารเผยแพร่

โครงการศึกษาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย

Pawin Siriprapanukul, Ph.D.

14 Feb 2024
SHARE

Abstract

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เผยว่ากระทรวงการคลังกำลังเตรียมแผนการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ในลักษณะของภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในประมวลรัษฎากร แต่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 และในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น โดยในปีแรกจะเริ่มจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.055 (ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 0.05 และภาษีท้องถิ่นร้อยละ 0.005) ของมูลค่าหุ้นเฉพาะในส่วนที่ขาย ส่วนในปีถัดไปจะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.11 ของมูลค่าหุ้นที่ขาย (ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 0.1 และภาษีท้องถิ่นร้อยละ 0.01) ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศอย่างชัดเจนจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน (ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี) ว่าจะยังคงยกเว้นการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นต่อไป แต่การหารือถึงผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวก็ควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหากรัฐบาลต้องการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นในลักษณะภาษีธุรกิจเฉพาะ รัฐบาลเพียงแค่ประกาศยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษี กระทรวงการคลังก็จะสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ทันที  


โครงการวิจัยนี้ต้องการศึกษาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มสารสนเทศให้กับการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายในอนาคต โดยมีการจัดแบ่งงานศึกษาออกเป็น 2 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกเป็นการประเมินผลกระทบของการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และต้นทุนเงินทุนของกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ และส่วนที่สองเป็นการประเมินผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินของภาคการผลิตต่อสภาวะเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทย  


งานศึกษาในส่วนแรก สามารถสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนสำหรับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเมื่อพิจารณาถึงค่าเฉลี่ยของต้นทุนธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนทุกประเภทในช่วงปี พ.ศ. 2556-2565 จะอยู่ที่อัตราร้อยละ 0.1197 การจัดเก็บภาษีการขายหุ้นที่อัตราร้อยละ 0.11 จึงเพิ่มต้นทุนธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญให้กับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเพียงร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 ซึ่งทำให้อัตราภาษีขายหุ้นที่ร้อยละ 0.11 จะเพิ่มต้นทุนธุรกรรมให้อีกกว่าเท่าตัว 


การเพิ่มขึ้นของต้นทุนธุรกรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์จะนำมาซึ่งการลดลงของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนประเภทต่างๆ โดยการประเมินผลด้วยแบบจำลองทางเศรษฐมิติ ซึ่งอาศัยข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2556-2565 สามารถประเมินค่าสัมประสิทธิ์ความยืดหยุ่นของการซื้อขายหลักทรัพย์เทียบกับต้นทุนธุรกรรมในการซื้อขายในระยะยาวที่ -0.1166 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งมีนัยถึงการลดลงของสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างรุนแรง (ลดลงร้อยละ 74.44 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการจัดเก็ฐภาษี) ทั้งนี้ การนำผลลัพธ์ดังกล่าวไปอ้างอิงต่ออาจต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีประสบการณ์ในการปรับเพิ่มต้นทุนธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ในระดับสูง และผลการศึกษาดังกล่าวเป็นการประเมินค่าความยืดหยุ่นแบบจุดเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การลดลงของสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก 


ในงานศึกษาส่วนที่สอง การลดลงของสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ถูกกำหนดให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของประเทศ ผ่านการลดทอนศักยภาพในการแข่งขันของตลาดทุนที่ลดลงในภาคการเงิน โดยการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกนำไปประเมินผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในภาพรวมผ่านแบบจำลองแบบจำลองดุลยภาพองค์รวม (Computable General Equilibrium; CGE) ที่กำหนดเงื่อนไขภายในแบบจำลองให้สอดคล้องกับการเป็นแบบจำลองระยะยาว การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Products; GDP) ของประเทศปรับตัวลดลงร้อยละ 0.048 ผ่านการลดลงของการบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุน รวมทั้งการส่งออก ของประเทศ นอกจากนั้น ยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.01 ในขณะที่ การจัดเก็บภาษีการขายหุ้นจะสร้างรายได้สุทธิเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลราว 1.1 หมื่นล้านบาท โดยถึงแม้ตัวเลขการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นจะถูกกำหนดไว้ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาทในงานศึกษา ซึ่งถือเป็นตัวเลขประเมินในระดับสูงในปัจจุบัน แต่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อมประเภทอื่นๆ ปรับตัวลดลงราว 1 พันล้านบาท 


การจัดเก็บภาษีการขายหุ้นดูจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมในระดับสูงกว่าการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และการปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ภายใต้เงื่อนไขที่ทางเลือกนโยบายทั้งสามทางสามารถสร้างรายได้สุทธิเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลได้ในระดับใกล้เคียงกัน ราว 1.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบระดับจำกัดต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่ การปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลมีความเสี่ยงต่อการที่ผู้ประกอบการผลักภาระภาษีไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์สินค้า/บริการของตนเองในลำดับถัดไป อันส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีความกังวลเพิ่มเติมว่าการจัดเก็บภาษีการขายหุ้นอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว อันจะส่งผลเสียต่อศักยภาพการเติบโตในอนาคตของประเทศ รวมถึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามความมุ่งหมายของรัฐบาลที่จะใช้ภาษีประเภทนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นหลักอีกด้วย