ในปัจจุบัน แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยจะมีขนาดเล็กมาก (ระดับหมื่นล้านบาทต่อเดือน) เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (ระดับล้านล้านบาทต่อเดือน) แต่ตลาดมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และไทยมีจำนวนผู้ถือคริปโตเคอร์เรนซีมากติดอันดับ 10 ของโลก
ผลการสำรวจความรู้ความเข้าใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนไทยจำนวนมากกว่า 3 พันคน พบว่า
1. ความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนไทยอยู่ในระดับปานกลาง
2. ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับการลงทุนเป็นไปในทิศทางบวก
3. การบริหารความเสี่ยงบางส่วนมีปัญหา
4. คนไทยไม่ได้เลือกช่องทางการซื้อขายจากสภาพคล่องและค่าธรรมเนียม
5. มากกว่า 35% มีการใช้แหล่งเงินลงทุนที่มาจากการกู้ยืม
6. มากกว่า 80% ของผู้ที่ไม่ได้ลงทุน มีแผน/อาจจะมีแผนลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า
7. ส่วนใหญ่คิดว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจะดีขึ้นและสำคัญมากขึ้นในอนาคต
8. พบเห็นโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านบริษัทลงทุน และกองทุนรวมหรือบริษัท ETF
9. เหตุผลหลักที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คือ การเก็งกำไรระยะสั้น และต้องการกระจายความเสี่ยง
จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยนั้นได้เปลี่ยนไปจากตลาดทุนดั้งเดิมบ้างแล้ว หากไม่สนับสนุนเครื่องมือการลงทุนใหม่ ๆ เงินลงทุนอาจไหลออกสู่ต่างประเทศได้ นานาประเทศได้มีการปรับตัวแข่งขันกันขึ้นเป็นผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์และฮ่องกงต่างพัฒนานโยบายใหม่ ริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อดึงตัวผู้พัฒนาและนักลงทุน ทั้งปัจจัยด้านการกำกับดูแล ภาษีแหล่งเงินทุน และความยากง่ายในการทำธุรกิจ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เร็วและตรงจุด และหาสมดุลระหว่างความเสี่ยงและโอกาสให้เจอ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปในซีรีส์ชุดนี้
แม้จำนวนผู้ถือคริปโตฯ ในไทยจะมีเพียง 1.53% ของโลก แต่หากเรียงลำดับทั่วโลกไทยอยู่อันดับ 10 ซึ่งสูงเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านั้น ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับแรงหนุนจากผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมาก รวมทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ช่วยผลักดันให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด
แรงหนุนที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตมาจากความสนใจของธนาคารและบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจและการร่วมทุนมากมายจากเทคโนโลยีนี้ เช่น ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal), ผู้ให้บริการกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่รับฝาก "สินทรัพย์ดิจิทัล" (Custodial Wallet Provider) หรือแพลตฟอร์ม DeFi สัญชาติไทย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านการพัฒนาตลาดและเงินทุนที่จะผลักดันเทคโนโลยีนี้ไปข้างหน้า
ตลาดทุนไทยอาจมีทางเลือกใหม่ ๆ เพิ่มเติมในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าถึงโอกาสในการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น และสามารถลงทุนในบริษัทหรือโครงการที่มีความทันสมัยหรือเป็น Technology Startups ที่เติบโตได้อีก ซึ่งปกติแล้วการลงทุนในบริษัทเหล่านี้มักเป็นเรื่องยากสำหรับนักลงทุนรายย่อย
โดยสรุปแล้ว ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเติบโต ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่ง ทั้งจากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น การระดมทุนที่มากขึ้น ความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ และโอกาสในการเข้าถึงการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นสำหรับนักลงทุนทุกระดับ นี่จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่าสินทรัพย์ดิจิทัลอาจกลายเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยในอนาคต
สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้ทำการสำรวจความรู้ทางด้านสินทรัพย์ดิจิตอลและได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้
ผลสำรวจความรู้ทางการเงินชี้ให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องดอกเบี้ยทบต้น โดยมีผู้ตอบผิดมากถึง 2 ใน 3 ซึ่งความรู้ดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญของการวางแผนการเงินที่หลายคนยังมองข้าม
ความเข้าใจในสินทรัพย์ดิจิทัลยังคลาดเคลื่อน เช่น คิดว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีรัฐบาลค้ำประกัน หรือเข้าใจผิดว่าเมื่อกดส่งสินทรัพย์ดิจิทัล สินทรัพย์นั้นจะส่งถูกส่งไปถึงผู้รับทันที
หลายคนยังไม่รู้ว่า NFT, Stablecoin, Utility Token, Investment Token และ CBDC คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่กฎหมายไทยให้การรับรอง (พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561)
สำหรัับด้านความรัู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้้องกับการกำกับดูแลนั้น พบว่า คนส่วนใหญ่ (70%) ยังไม่รู้ว่า ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย นี่เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น
ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีความเสี่ยงสูง แต่กลับพบว่ามีนักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลบางส่วนที่แทบจะรับความเสี่ยงไม่ได้เลย ดังนั้นการให้ความรู้แนวคิดที่เกี่ยวกับ risk and return จึงเป็นเรื่องสำคัญ
จากผลสำรวจพบว่า ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลบางส่วนไม่ได้ให้ความสำคัญกับสภาพคล่องและค่าธรรมเนียมในการเลือกแพลตฟอร์มซื้อขายมากนัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนบางส่วนอาจยังไม่เข้าใจกลไกตลาดเท่าที่ควร
มากไปกว่านั้น พบว่ากลุ่มคนที่จบปริญญาตรีเกินครึ่งหนึ่งมาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมความรู้ในเรื่องดังกล่าวในกลุ่มวัยรุ่นนักศึกษา
ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่าคนไทยบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ประชาชน เพื่อให้คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพและปลอดภัย