การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกใช้มาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดผ่านการปิดเมือง การรักษาระยะห่าง และงดการเดินทางเข้า-ออกระหว่างกัน มาตรการดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับตัวด้านดิจิทัลและแรงงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงระหว่างและหลังวิกฤต COVID-19 และถอดบทเรียนของบริษัทจดทะเบียน และพิจารณาแนวทางสำหรับการเตรียมตัวเชิงป้องกันและการบริหารความเสี่ยงสำหรับวิกฤตที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิกฤต COVID-19 ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการธุรกิจที่บริษัทจดทะเบียน จำนวน 50 บริษัทและข้อมูลทุติยภูมิจากการประกอบธุรกิจที่บ่งชี้ถึงกลยุทธ์ด้านดิจิทัลและแรงงานจากแบบฟอร์ม 56-1/One Report ทั้งหมด 578 บริษัทจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 28 หมวดธุรกิจย่อย บริษัทจดทะเบียน ส่วนใหญ่ (ยกเว้นกลุ่มเกษตร) ได้รับผลกระทบอย่างหนักในระลอกแรกของการแพร่ระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน COVID-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนในแบบเปลี่ยนผ่าน (Transitional) หรือแบบโครงสร้าง (Structural) ทำให้การลงทุนในปัจจัยด้านดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างมาก หลายบริษัทได้ปรับตัวด้วยการนำปัจจัยด้านดิจิทัลมาใช้ร่วมกับปัจจัยแรงงานซึ่งก่อให้เกิดการปรับตัวด้านแรงงานเช่นเดียวกัน จากการวิเคราะห์ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากระลอกแรกของ COVID-19 พบว่าลักษณะเฉพาะของการดำเนินกิจการในธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นอาจได้รับความเสียหายมากกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานน้อยกว่า แม้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวมีประสบการณ์และฟื้นตัวจากวิกฤตในอดีต แต่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องใช้เวลาถึง 11 ไตรมาสในการฟื้นตัว กลุ่มธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องติดต่อ/สื่อสารหรือการร่วมงานทางกายภาพต่ำ (low-contact) เป็นแต้มต่อสำคัญต่อการปรับตัวในช่วง COVID-19 ครั้งนี้ วิกฤต COVID-19 ได้สร้างแรงผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าหลายธุรกิจจะกลับสู่สภาพใกล้เคียงกับปกติ (near normal) แต่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ช่วยเสริมสร้างศักยภาพที่แข็งแกร่งมากขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนและทรัพยากรเพียงพอมีความสามารถในการปรับตัวมากกว่า ขณะที่บริษัทขนาดเล็กยังคงเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภายใต้สภาวะที่องค์กรต้องดำเนินการด้วยจำนวนคนจำกัด บุคลากรที่มีทักษะด้าน Soft Skill และ Multi-skills จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยองค์กรปรับตัวและรักษาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง