การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยสำหรับนักลงทุนรายย่อยมีข้อจำกัด โดยช่องทางหลักที่สามารถทำได้ คือ การซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีโดยตรงผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาต อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทางเลือกในการลงทุน เนื่องจากการลงทุนผ่านกองทุนที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศยังไม่สามารถทำได้สำหรับนักลงทุนรายย่อย นอกจากนี้ ตัวกลางที่เคยเปิดโอกาสให้เข้าถึงกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศก็ถูกห้ามดำเนินการ เพราะยังไม่ได้รับรองทางกฎหมาย ทำให้ทางเลือกในการลงทุนแคบลง นักลงทุนรายย่อยจึงพลาดโอกาสในการลงทุนในผลิตภัณฑ์อย่าง Spot Bitcoin ETF ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่ลงทุนใน Bitcoin จริง โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของเหรียญเอง และสามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์
กฎเกณฑ์ที่จำกัดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนรายย่อยในไทยสะท้อนถึงความแตกต่างในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนเมื่อเทียบกับนักลงทุนสถาบันหรือผู้มีสินทรัพย์สูง สำนักงาน ก.ล.ต. มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการลงทุนของกองทุนรวมและกำหนดคุณสมบัติของผู้ซื้อขายหน่วยลงทุน โดยขณะนี้ ก.ล.ต. กำลังพิจารณาเกณฑ์การลงทุนใน Spot Bitcoin ETF สำหรับกองทุนรวมที่เสนอขายต่อรายย่อย ซึ่งยังไม่อนุญาตในปัจจุบัน แต่คาดว่าจะมีการพิจารณาอีกครั้ง โดยหากมีการออกเกณฑ์ คาดว่าจะมีการกำหนดเพดานสัดส่วนการลงทุนต่อมูลค่ารวมของพอร์ต ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เสนอว่าจะกำหนดไม่เกิน 20% ของพอร์ต หรือไม่เกิน 5% ต่อประเภทสินทรัพย์
ดังนั้น นักลงทุนที่ต้องการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลถูกจำกัดทางเลือก ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาช่องทางในระบบ Web3 (เว็บแบบกระจายศูนย์ผ่านเทคโนโลยีบล็อคเชน) ซึ่งอาจทำให้ตลาดทุนไทยสูญเสียโอกาสในการเติบโต การพึ่งพาการซื้อขายระยะสั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว การตัดสินใจที่ล่าช้าในการเปิดรับนวัตกรรมทางการเงินอาจทำให้ไทยพลาดโอกาสสำคัญ เนื่องจากกระบวนการแก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนต้องใช้เวลา การสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองนักลงทุนและการส่งเสริมนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญ การกล่าวถึง Spot Bitcoin ETF เป็นเพียงตัวอย่างของการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย การเคลื่อนไหวของเงินทุนไม่สามารถรอได้ และการชะลอการตัดสินใจอาจส่งผลเสียต่อตลาดทุนไทยได้ในอนาคต
การระดมทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างโทเคนดิจิทัล (Tokenisation) ในประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทำให้การยอมรับในวงกว้างยังจำกัดและมีจำนวนการออกเหรียญใหม่ ๆ น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ปัญหาหลัก ๆ คือ ต้นทุนในการทำ ICO ที่สูง ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนในการจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย และการตรวจสอบ (Audit) กฎระเบียบที่ยังไม่ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องภาษี ค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป และความไม่แน่นอนของการตีความกฎหมายในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงช่องทางระดมทุนสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่แตกต่างกัน ทำให้การพัฒนาตลาดรองเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดิจิทัลยังคงมีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมทางการเงินและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้ระดมทุนและนักลงทุนได้ หากมีการปรับปรุงกฎระเบียบและสร้างความชัดเจนในด้านต่าง ๆ ก็จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยได้
การผลักดันการออก Investment Token ในประเทศไทยมี 2 รูปแบบหลักคือ Asset-backed Token ที่ให้ผลตอบแทนจากทรัพย์สินอ้างอิง และ Project-backed Token ที่ให้ผลตอบแทนเป็นเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเมื่อสิ้นสุดโครงการ อย่างไรก็ตาม การระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลยังเผชิญความท้าทายในการสร้างการยอมรับในวงกว้าง โดยมีข้อจำกัดด้านขนาดสินทรัพย์ที่ต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ข้อกำหนดนี้ส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการทำ Tokenisation ได้ ทำให้พลาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหรือเก็บรายได้จากสินทรัพย์
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกรรมสิทธิ์ที่กฎหมายไทยยังไม่รองรับสิทธิของผู้ถือโทเคนในสินทรัพย์อ้างอิงอย่างชัดเจน แม้สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้ถือโทเคนโดยให้มีทรัสตีเข้ามาดูแลผลประโยชน์ อย่างไรก็ดี ด้วยหลักการนี้เป็นกรณีที่นำไปใช้กับการขอระดมทุนโทเคนที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินอ้างอิง จึงไม่ได้ครอบคลุมและนำไปใช้กับการ Tokenisation สินทรัพย์ขนาดเล็ก จึงทำให้ Use-Case นี้ยังไม่เกิดขึ้นจริงเช่นเดิม
คลิกเพื่อรับชม VDO เผยแพร่ความรู้: เส้นบางๆ ระหว่าง ‘ปกป้อง’ กับ ‘ปิดโอกาส’ ของนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย | Thailand Future EP.3