Home > Publication & Database

CMRI Publication

เอกสารเผยแพร่

โครงการวิจัย เรื่อง ทัศนคติของนักลงทุน ผลตอบแทนชดเชยคาร์บอน และ การออกแบบพอร์ตลงทุนเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย

Busayasachee Puang Ngern, Ph.D. , Kridsda Nimmanunta, Ph.D. , Sunti Tirapat, PhD.

14 Feb 2024
SHARE

Abstract

โครงการฯ มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศน์ทางด้านการเงินในการรับมือกับสภาวะอากาศที่มีเปลี่ยนแปลง การศึกษาประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) การสำรวจและทดลองเชิงสมมติกับนักลงทุนทั่วไปและสมาชิกของกองทุนต่าง ๆ เพื่อทราบถึงทัศนคติและการรับรู้ ทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและความต้องการลดการปล่อยคาร์บอน 2) ศึกษาผลกระทบของการปล่อยคาร์บอนต่อตลาดทุนไทย เพื่อทราบถึงปัจจัยที่กำหนดการปล่อยคาร์บอน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างการปล่อยคาร์บอนและอัตราผลตอบแทนของหุ้นสามัญ 3) ศึกษาการจัดกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลดคาร์บอน เพื่อออกแบบและเสนอทางเลือกให้กับนักลงทุน 


ผลการสำรวจทัศนคติและการรับรู้ของนักลงทุนไทยจำนวน 957 ตัวอย่าง พบว่า นักลงทุนมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงโดยตรงของกิจการที่ส่งผลต่อมูลค่าของกิจการมากกว่าความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม ในส่วนของทัศนคติการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการลดการปล่อยคาร์บอน กว่าร้อยละ 95 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าการเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการลดการปล่อยคาร์บอน จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยังพบว่านักลงทุนยอมจ่ายเฉลี่ยไม่เกินครี่งนึงของผลตอบแทนปกติ เพื่อเพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการลดการปล่อยคาร์บอน นักลงทุนมองว่ากลไกหรือมาตรการภาครัฐจะช่วยผลักดันให้เกิดการลดคาร์บอนได้ดีที่สุด ได้แก่ การจัดเก็บภาษีคาร์บอน ทั้งนี้ ความสมัครใจและแรงผลักดันของนักลงทุนและสถาบันการเงินสามารถเป็นแรงผลักดันในการช่วยลดคาร์บอนได้ ผลการทดลองเชิงสมมติช่วยยืนยันผลการสำรวจทัศนคติว่านักลงทุนตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อพิจารณาทั้ง 3 ด้าน นักลงทุนตัดสินใจลงทุนมี Investment Return เป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงและใหญ่ที่สุดในการตัดสินใจลงทุน ตามด้วย Climate Immunity และ Climate Friendliness 


จากการวิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนจากฐานข้อมูล Trucost และ Datastream ในช่วงปี ค.ศ. 2004 – 2021 พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนว่านักลงทุนไทยมีความกังวลและกลัวความเสี่ยงที่อาจเกิดกับกิจการที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงว่านักลงทุนไทยกังวลหรือกลัวความเสี่ยงที่อาจเกิดกับกิจการที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณมากตามปกติ กิจการใดที่ไม่ได้ปล่อยคาร์บอนสูงขึ้นจากเดิม ก็อาจไม่เผชิญกับความเสี่ยงจากมาตรการรัฐมาก แม้กิจการนั้นจะมีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมากก็ตาม การวิเคราะห์ผลตอบแทนและความเสี่ยงของหุ้นสามัญในประเทศไทยสามารถพัฒนาให้ดีขึ้น โดยเพิ่มปัจจัยความเสี่ยงทางคาร์บอนในการทำนายผลตอบแทนและความเสี่ยงของหุ้นสามัญ หากแต่ไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนของหุ้นสามัญกับระดับความกังวลต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของประชาชนไทย 


ในการนำเสนอทางเลือกในการจัดการกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลดการปล่อยคาร์บอนสำหรับนักลงทุน และกรอบวิธีการจัดการกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลดการปล่อยคาร์บอนที่เหมาะสม ได้มีการนำเสนอดัชนีสีเขียว 3 รูปแบบ คือ ดัชนีจากการเลือกไม่ลงทุน การกำหนดเป้าหมายคาร์บอน การสร้างดัชนีลดการปล่อยคาร์บอน การศึกษามีการเลือกใช้วิธีการหาน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ ที่ทำให้ดัชนีที่สร้างขึ้นมีการเบี่ยงเบนจากดัชนีที่อ้างอิงต่ำที่สุด เนื่องจากการจัดทำดัชนีในลักษณะนี้ นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง ทำให้มีความเหมาะสมกับการลงทุนในกองทุนแบบ Passive Funds โดยดัชนีอ้างอิงคือ SET50 


ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ คือ ผู้ออกนโยบายควรสนับสนุนให้มีการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลดคาร์บอนและควรกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกับกิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาก หรือ อีกทางเลือกหนึ่ง ภาครัฐอาจอาศัยกลไกตลาดทุนเป็นเครื่องมือในการเร่งให้กิจการเหล่านี้ปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่เนื่องจากตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันนักลงทุนยังไม่ต้องการ Carbon Premium สำหรับการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง (Carbon Footprint) ภาครัฐควรสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อม และ ส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินการลงทุนที่สามารถช่วยทำให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนได้ เช่น Green Investment Funds การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนจะช่วยสร้างค่านิยมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้กิจการเร่งปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนทางการเงินของตนเองลง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐอาจดำเนินนโยบายคู่ขนานโดยการส่งเสริมสร้างแรงจูงใจให้กิจการที่ปล่อยคาร์บอนปริมาณมากได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและดำเนินงาน โดยสร้างแรงจูงใจให้กิจการลงทุนในนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างจำกัด การลงทุนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Investing) ยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ